ชาวเผ่าเตรียงที่เมืองด๊ากจึง

ชาวเผ่าเตรียงที่เมืองด๊ากจึง(ดากจึง,ดั๊กจึง)
“ชาวเผ่าเตรียง” อ่านว่า “ตะ เรียง” ไม่ใช่ชาวเผ่ากะเหรียงทั้งภาษาพูดก็ต่างกัน ชาวเตรียงใช้ภาษาด๊ากกังในการการพูดเท่าที่ผมลองฟังดูผมว่ามีภาษาที่คล้ายๆไทยอยู่หลายคำ แต่ก็ฟังไม่ออกว่าเขาพูดอะไรกันชาวเผ่าเตรียงมีอยู่มากที่แขวงเซกองประเทศลาว โดยเฉพาะที่เมืองด๊ากจึงเป็นชาวเตรียงเกือบทั้งหมด(แต่ยังมีเผ่าอื่นๆอีกสามเผ่า) ผมได้มาเที่ยวที่เมืองด๊ากจึงแบบโชคดี ได้ข้อมูลจากคนลาวบอกว่าเมืองนี้ไปยากมาก อาจต้องนอนกลางป่าหลายคืนกว่าจะเข้าถึงได้ ทำให้ผมอยากมามากในที่สุดผมก็เดินทางมาถึงได้สำเร็จ

หมู่บ้านที่เจ้าหน้าที่ของห้องการโฆษณาและวัฒนธรรมของลาวได้พาผมมาคือบ้านด๊ากซวง เมืองด๊ากจึง อยู่ห่างจากเมืองด๊ากจึงประมาณ 4 กิโลเมตร ขี่มอเตอร์ไซค์ประมาณ 40 นาที ทางเป็นทางลำบากนิดหน่อยข้ามน้ำสี่ห้าลำห้วย แต่ก็มาถึงได้ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ธรรมดาไม่ใช่รถวิบาก

บ้านด๊ากซวงมีอยู่ประมาณ 30 หลังคาเรือน มีคนน่าจะหลายร้อยคน ข้างๆหมู่บ้านมีน้ำธรรมชาติเป็นแหล่งน้ำสำคัญใช้บริโภค กิน อาบ ซักผ้า ทำอาหาร เลี้ยงสัตว์ เขามีอาชีพทำไร่ปลูกมันพอมีพอกินพอเพียงไปแต่ละวัน ใช้ชีวิตเรียบง่ายตำข้าวกินเอง ได้สารอาหารจากข้าวครบอายุยืน มีคนที่นี่บอกผมว่าอายุ 150 ปี ผมไม่ค่อยแน่ใจนะเพราะว่าเขาไม่มีการจดว่าเกิดปีไหนแค่ประมาณเอาครับ

ข้าวที่เขากินเขาก็จะปลูกเองเป็นข้าวเม็ดกลมๆแบบข้าวดอยข้าวญี่ปุ่น ทุกคนทุกบ้านจะต้องตำข้าวกินกันเองตำแล้วนำไปฝัดแยกเปลือกแล้วก็ไปตำอีกจนหมดเปลือก แล้วจึงนำมาหุงเป็นข้าวที่อุดมด้วยสารอาหารที่นี่ไม่มีเครื่องสีข้าวแบบบ้านเราครับ เรื่องอาหารหลักคือผักต้มใส่เกลือและพริกลงไป ในหนึ่งอาทิตย์จะได้กินเนื้อสัตว์หนึ่งครั้งก็พวกไก่หมูที่เลี้ยงไว้

ส่วนรายได้เขาไม่มีครับเสื้อผ้าที่เขาใส่ได้มาจากการเอาผักไปขายในตลาดได้เงินมาก็ซื้อเสื้อผ้าใส่อย่างอื่นไม่ห่วงเพราะหาจากป่าหรือปลูกได้แต่ผ้านี่จำเป็นมากของพวกเขา นี่เป็นสิ่งที่คนที่พาผมไปเล่าให้ฟังเขาก็เป็นชาวเตรียงเหมือนกัน ชาวเตรียงกินข้าววันละสองมือเท่านั้นคือสายและบ่าย กินเยอะเปลืองและของกินหายากจึงต้องกินน้อยๆ

ดูจากที่เห็นก็รู้แล้วว่าไม่ค่อยมีผ้าใส่กันเด็กๆนี่ไม่ต้องใส่เสื้อผ้าโตหน่อยถึงได้ใส่ เผ่าเตรียงที่ผมไปนี้ไม่เคยมีนักท่องเที่ยวมาถึง เคยมีเจ้าหน้าที่จากญี่ปุ่นมาทำวิจัย 1 ครั้งมากัน 6 คน เป็นคนที่พาผมไปเล่าให้ฟัง

บ้านของชาวเตรียงเป็นไม้ทั้งหลังมุงหลังคาด้วยหญ้า คล้ายๆกับบ้านชาวเขาที่เมืองคอนตูม คือบ้านจะหลังคาสูง เมื่อเข้าไปด้านในรู้สึกเย็นสบาย เมืองด๊ากจึงเป็นที่สูงอากาศหนาวเย็นในบ้านของชาวเตรียงจึงมีเตาไฟในบ้าน และจะก่อกองไฟและผิงไฟกันรอบกองไฟ รวมทั้งทำอาหาร หุงข้าวภายในในบ้าน

เสน่ห์ของชาวเตรียงที่คนเซกองรู้จักกันดีคือเขาจะสูบกระบอกสูบยาใหญ่ๆ ที่เขาเรียกว่า “กระบั้ง” หรือ “ปันก๊อก” กระบั้งนั้นชัดเจนอยู่แล้วคือบั้งหรือบ้อง แต่ปันก๊อกนี้ผมได้ความรู้มาจากอาจารย์ภูพาน ที่สอนวิชาภูมิศาสตร์ที่เซกองเล่าให้ฟังว่า ในการล้อมรอบกองไฟก็จะมีการสูบบ้องซึ่งเวลาสูบจะมีเสียงดัง ก๊อก ก๊อก เป็นเสียงของน้ำ เมื่อมีการสูบก็จะมีการปันกัน แบ่งกันสูบรอบวง หนุ่มส่งให้สาว สาวส่งให้หนุ่ม เธอให้ฉัน ฉันปันให้เธอ แบ่งปันกันไปจีบกันไปจึงเรียกว่าปันก๊อกอีกชื่อหนึ่งครับ

ผมเดินเล่นรอบหมู่บ้านอยู่พักใหญ่และคุยกับชาวบ้านเล่นกับเด็กชาวเตรียง และก็ได้มีโอกาสกินข้าวสวยร้อนๆ กับผักต้มตั้งในขันโตกในแบบฉบับของการต้อนรับของชาวเตรียง และได้รับเชิญให้สูบปันก๊อกด้วยแต่ผมก็ไม่ได้สูบ ได้แต่กินข้าวร้อนกับผักต้มที่แสนจะอร่อยของของชาวเตรียงครับ

เรื่องชาวเตรียงที่ผมเขียนนี้น่าจะเป็นเรื่องแรกที่มีการเผยแพร่ออกสู่อินเตอร์เน็ต หากใครมาเที่ยวด๊ากจึกก็จะได้รับรู้และเข้าใจชีวิตมากขึ้นว่าการอยู่อย่างพอเพียงของถึงแม้ยากลำบากแค่ไหน ในความลำบากก็เห็นรอยยิ้มที่ใสบริสุทธิ์ของชาวชาวเตรียงทุกคน เป็นเรื่องแรกที่ผมไม่อยากให้คนมาเที่ยวกันเยอะ กลัววิถีชีวิตเขาจะถูกทำลายไป แต่ก็อยากจะช่วยให้เขาไม่ต้องลำบากมากนัก เพราะที่ผมคุยกับเขานั้นหน้าร้อนตรงนี้ไม่มีน้ำใช้ ต้องเดินไปอีกหลายกิโลเมตรไปเอาน้ำมาใช้ที่บ้าน mr.hotsia ธันวานคม 2553