ทุกวันนี้ตลาดน้ำมีเยอะไปหมด จนไม่รู้แล้วว่าตลาดแบบไหนเป็นแบบที่มีอยู่เดิม หลังจากที่ผมเที่ยวมาหลายที่ว่า “ตลาดน้ำท่าคา” เป็นตลาดดั้งเดิมของแท้ๆ ที่ยังคงได้จนถึงทุกวันนี้มากที่สุด ตลาดน้ำท่าคามีดั้งเดิมเฉพาะวัน 2 ค่ำ 12 ค่ำ และ 7 ค่ำ จนถึงวันนี้ชาวบ้านก็จะเอาข้าวของพายเรือมาขายกันในวันดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะมีเพิ่มเติมมาเพื่อให้คนมาเที่ยวกันคือวันวันเสาร์อาทิตย์ แต่ Mr.hotsia แนะนำให้มาในวัน 2 ค่ำ 7 ค่ำ 12 ค่ำ จะได้บรรยากาศมากกว่าครับ (ดูว่าวันไหนตรงกะกี่ค่ำกี่แรมได้ที่นี่)
ที่ตลาดท่าคาชาวบ้านเขารวมตัวกันให้บริการนักท่องเที่ยวนั่งเรือชมสวน ชมการทำน้ำตาลจากมะพร้าว และชมบ้านโบราณที่รัชกาลที่ 5 เคยมาแวะ ผมว่าหากมาเที่ยวถึงนี่น่าจะนั่งเรือเที่ยวนะ เพราะราคาไม่แพง และเป็นการช่วยชาวบ้านแบบตรงๆเลย อีกทั้งบรรยากาศของที่นี่ยังเป็นบ้านสวนแท้ๆ สมบูรณ์มาก อีกหน่อยจะหาดูยากครับ
สำหรับที่พักที่ตลาดน้ำท่าคามีที่พักทั้งแบบโฮมสเตย์คืนละไม่กี่ร้อยเป็นโฮมสเตย์แท้ๆพักและกินอยู่กับชาวบ้านเลย ราคาจะรวมอาหาร 3 มื้อแล้ว นอกจากนั้นยังมีที่พักแบบเป็นห้องๆ ราคาก็ 400-1000 บาท แล้วแต่ location แต่โดยรวมราคาถูกกว่าอัมพวาแน่นอน และก็เป็นธรรมชาติมากกว่า แต่อัมพวาก็มีสีสันยามค่ำคืนที่ที่ตลาดน้ำทาคาไม่มี Mr.Hotsia ตุลาคม 2554
ตำบลท่าคา ประวัติมาจากตลาดน้ำท่าคา แต่เดิมเรียกว่าตลาดนัดท่าคา ซึ่งทำการค้าขายอยู่ที่ทำนบท่าคา หมู่ที่ 5 ตำบลท่าคา โดยพ่อค้าแม่ค้าชาวท่าคาและตำบลใกล้เคียงซึ่งอยู่ในอำเภออัมพวาและอำเภอบางคนที และบางส่วนจะมาจากทางราชบุรี จะพายเรือนำสินค้าทางการเกษตรมายังทำนบท่าคา และฝั่งอำเภอเมืองก็จะ นำสินค้าจำพวกอาหารทะเลมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบนทำนบท่าคา ซึ่งจะมีนัดกันในวันขึ้นและแรม 2 ค่ำ, 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ (โดยเฉพาะถ้านัดใดตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ก็จะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ) โดยเหตุผลที่นัดกันอย่างนี้เพราะจะได้ไม่ซ้ำกับนัดใกล้เคียง เช่น นัดบางจาก นัดบางน้อย นัดบางนกแขวก เป็นต้น
แต่เนื่องจากมีบางคนมาดักซื้อสินค้าระหว่างทางเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ จึงทำให้มีการถอยร่นลงมาจนมาถึงที่อยู่ปัจจุบัน ซึ่งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นตลาดน้ำท่าคา ชาวตำบลท่าคามีวิถีชีวิตการค้าขายทางเรือ แต่เดิมจะเป็นการทำอาชีพ ปลูกสวน ยาจืด ปลูกหอมกระเทียม ปลูกผักกาดหอม เป็นต้น แต่เนื่องจากเมื่อถึงฤดูน้ำหลากทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยจึงทำให้ผันเปลี่ยนมา เป็นกากรปลูก มะพร้าวแบบยกร่องแทน ชาวท่าคาที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างธรรมชาติในพื้นที่อันร่มรื่น มีลำคลองร่องน้ำเป็น จำนวนมากไหลผ่าน มีน้ำขึ้น – น้ำลง วันละ 2 ครั้ง ตามการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล ผู้คนอยู่ด้วยความรักความสามัคคี ส่วนใหญ่มาจากเชื้อสายเดียวกัน อยู่กันแบบเครือญาติ ดำเนินชีวิตเป็นแบบเรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ