ประวัติของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่น

เดิมแท้อยู่บ้านโนนเมือง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอชุมแพ เป็นระยะทาง 1 ก.ม. บริเวณโดยรอบเป็นเนินดินสูงมีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ล้อมรอบด้วยคลองสองชั้นมีสะพานข้ามและมีทางเข้าออกทางเดียว ชาวอำเภอชุมแพ เรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “กู่” ก่อนจะไปถึงกู่จะมีรูปพระนอนสลักลงบนหิน ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นวัดป่า

เมื่อปี พ.ศ.2498 ประมาณเดือน 4 ได้มีคนแก่มากราบเรียนท่านเจ้าคุณ พระราชสารธรรมมุนี(หลวงพ่อกัณหา) เจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น วัดศรีนวล เล่าว่ามีอยู่วันหนึ่งเขาได้ไปนอนพักที่โรงนาฝันประหลาดว่าเห็นคนแก่นุ่งห่ม ชุดขาวบ่นว่า “อยากจะไปอยู่ในเมือง” คืนที่สองฝันอีกว่า “อยากจะไปอยู่ในเมือง” และพูดต่อว่า “อยากจะไปอยู่เป็นมิ่งขวัญของเมือง” พอคืนที่สามก็ได้ฝันลักษณะเดิมอีก จากนั้นพอตื่นขึ้นก็รู้สึกว่าร้อนรนอยู่ไม่ได้นอนไม่ได้ ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ก็เลยเดินทางเข้าในเมืองมาเล่าความฝันให้ท่านเจ้าคุณฟัง และท่านเจ้าคุณได้ถามว่า “ลักษณะตรงนั้นเป็นอย่างไร” คนแก่ตอบว่า “ลักษณะตรงนั้นเป็นกู่เก่า มีป่าขนาดใหญ่ ต้นไม้ขึ้นหนาทึบมีเสาหิน และใบเสมาเป็นจำนวนมาก” ท่านเจ้าคุณก็เลยออกปากว่า “ถ้าเป็นมิ่งเป็นขวัญของเมือง ก็ต้องเป็นหลักเมือง” ประกอบว่าจังหวัดขอนแก่นยังไม่มีหลักเมือง ท่านเจ้าคุณจึงเรียนให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คือ หลวงพินิจ และได้มอบหมายให้ฝ่ายพระมหาสุคนธ์ พระอีกจำนวนหนึ่งพร้อมปลัดจังหวัดไปอัญเชิญหลักเมืองออกมาจากกู่ และเกิดอาเพศฝนตกหนัก มีฟ้าผ่าลงมาโดนเสาหลักเมือง (ปัจจุบันเป็นเสาหลักเมืองอำเภอชุมแพ) รถเกิดติดหลุ่มไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ก็เลยปรึกษากันว่า “เฮาเป็นผู้น้อย ผู้ใหญ่บ่ได้มาเพิ่นเลยบ่ไป” และได้อัญเชิญหลักเมืองลงไว้ที่วัดพระนอน แล้วกลับมาเล่าเหตุการณ์ให้ท่านเจ้าคุณฟัง ท่านเจ้าคุณเลยไปอัญเชิญด้วยตัวเองได้นำหมอลำ หนัง มาฉลองที่วัดพระนอนหนึ่งคืน แล้วค่อยอัญเชิญออกมา สี่หลัก หลักที่หนึ่งอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่น หลักที่สองอยู่ที่ศาลหลักเมืองอำเภอชุมแพ ส่วนสองหลักที่เหลืออยู่ที่หน้าโบสถ์วัดศรีนวลจังหวัดขอนแก่น ลักษณะหลักเมืองเป็นเสาหินทราย รูปทรง 8 เหลี่ยม สูงประมาณ 3 เมตร มีลายสลักตัวหนังสือขอม