ขณะที่กรุงเทพฯ และภาคกลางกำลังเจอปัญหาน้ำท่วมหนักครั้งประวัติศาสตร์ ทางภาคอีสานของไทยเรากำลังจะเปิดมิติใหม่ของการเดินทางในภูมิภาคอินโดจีน รับกับเทศกาลลอยกระทงปีนี้พอดิบพอดี เพราะกำลังจะมีการเปิด “สะพานมิตรภาพ” หรือ “ขัวมิตรภาพ” แห่งที่สามเชื่อมผืนแผ่นดินสองประเทศระหว่างไทย-ลาวเข้าหากัน
นับเป็นสะพานมิตรภาพข้ามโขงแห่งที่สาม หลังจากเรามีแห่งแรกแล้วที่ หนองคาย-เวียงจันท์ และแห่งที่สองที่ มุกดาหาร-สะหวันนะเขต และที่นี่ที่เชื่อมอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เข้ากับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนของลาว
ที่ต่างจากสะพานที่มุกดาหารก็คือ สะพานใหม่ที่นครพนมนี้จะเชื่อมเส้นทางผ่านลาวที่มุ่งตัดออกไปที่เวียดนามเหนือ ที่เมืองวินห์ (Vinh) เส้นทางนี้จะข้ามช่องเขาสูงมากกว่าสายล่าง แต่จะสะดวกและย่นระยะเวลาในการเดินทางไปที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม เพราะจากนี่ไปถึงเวียดนามเพียงแค่ร้อยกว่ากิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งจะว่าไปแล้ว ในอนาคตเมื่อถนนหนทางดีหมดแล้ว เราอาจตีรถจากนครพนมไปถึงฮานอยได้ภายในเวลาวันเดียว หรือคืนเดียวด้วยซ้ำ ไม่ต้องพูดถึงการขนส่งและการค้าที่จะมีอีกมากมาย
ในขณะที่เส้นมุกดาหารจะ ผ่านสะหวันนะเขต มุ่งเข้าเวียดนามกลางที่เมืองเว้ และดานังตามลำดับ มีประโยชน์ในคนละจุดหมายปลายทาเท่าที่สัมผัสบรรยากาศในเมืองนครพนม ทุกฝ่ายมีความตื่นตัวกับการเปิดสะพานครั้งนี้มาก โดยเฉพาะฤกษ์เปิดสะพานที่ผูกกับตัวเลข 11-11-2011-11.11
เพราะโดยตามหมายกำหนดการนั้น สมเด็จพระเทพฯ จะทรงเสด็จเป็นประธานเปิดสะพานร่วมกับ ฯพณฯ บุญยัง วอละจิต รองประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สะพานมิตรภาพแห่งที่สาม (นครพนม-แขวงคำม่วน) ในวันศุกร์ที่ 11 เดือน 11 ปี 2011 เวลา 11.11 น. ซึ่งเป็นที่มาของตัวเลข 11-11-2011-11.11
ส่วนตามตัวเมืองก็มีการขึ้นป้าย และทำเสื้อที่ระลึกเตรียมออกขายนักท่องเที่ยวและผู้เดินทาง เป็นรูปสะพานมิตรภาพกันอย่างคึกคััก ในขณะที่ ดร. สมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.จังหวัดนครพนมถึงกับขึ้นป้ายใหญ่รอบเมืองว่า “ฝันที่เป็นจริง” พร้อมจัดดนตรีการแสดงครั้งใหญ่ รวมทั้งชกมวยไทย-ลาว -ในช่วงเปิดสะพาน
อันที่จริงทางนครพนมได้เตรียมการงานต่อเนื่องโปรโมทรับการเปิดสะพานตั้งแต่งาน “ไหลเรือไฟ” เมื่อกลางเดือนตุลา และงานสมโภชเจ้าพ่อหมื่นที่เป็นงานประจำปีจัดในสัปดาห์นี้ ต่อเนื่องไปกับการเปิดสะพานในวันที่สิบเอ็ด เดือนสิบเอ็ด ปีสิบเอ็ด คราวนี้เลย
ในอนาคตการเที่ยว เดินทางในภูมิภาคนี้ระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้านรับรองว่าจะต้องเปลี่ยนโฉมอย่างแน่นอนครับ เพราะเท่ากับเรามีแนวสะพานเชื่อมต่อกับลาวตั้งแต่ที่หนองคาย ลงมานครพนม และมุกดาหาร ในขณะที่ล่างสุดก็มีช่องทางติดต่อที่อุบล ผ่านข้ามสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ที่เมืองปากเซ
ามองสายเหนือ ที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะมีสะพานข้ามโขงแห่งที่ 4 และจะเป็นสะพานที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สะพานมิตรภาพทั้งหมด ที่กำลังก่อสร้างอยู่ที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อเชื่อมทางตัดผ่านลาวเข้ามณฑลยูนนานทางใต้ของจีนอย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรก